by www.zalim-code.com

It'me

รูปภาพของฉัน
Miss Chalanda Khamjun Student ID 5411203044 Junior Field of Early Childhood Education Faculty of Education Chandrakasem Rajabhat University.

สัปดาห์ที่ 8

วันที่ 3 สิงหาคม 2555

ไม่มีการเรียนการสอน  
หมายเหตุ : เป็นวันหยุดราชการ  เนื่องจากตรงกับวันเข้าพรรษา



..........................................

สัปดาห์ที่ 7

วันที่ 27 กรกฎาคม 2555

แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอการสังเกตพฤติกรรมเด็กปฐมวัยจากการเล่านิทาน  ทั้งหมด 8 กลุ่ม ดังต่อไปนี้



 จากการที่ได้เล่านิทานให้น้องๆ ฟัง 
น้องให้ความสนใจเป็นอย่างมาก  สังเกตได้จากการมานั่งฟังด้วยความตั้งใจ  แต่ส่วนมากที่มานั่งฟังจะเป็นเด็กผู้หญิง  ส่วนเด็กผู้ชายนั้นจะเล่นเครื่องเล่นโดยมานั่งฟังประมาณ 1-2 คน
น้องได้ตอบคำถาม  ได้แสดงความคิดเห็นร่วมกับเพื่อนๆ  ทำให้น้องได้พัฒนาด้านภาษา 
น้องจะได้พัฒนาการทั้ง 4 ด้าน  คือ  ด้านร่างกาย  อารมณ์-จิตใจ  สังคม  และสติปัญญา
เด็กได้เรียนรู้ภาษาจากประสาทสัมผัสทางหู ภาษาที่เด็กได้จากการฟังนิทานจะทำให้เด็กๆได้เรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆรอบตัวได้มากขึ้น นิทานทำให้เด็กเรียนรู้ภาษาได้เร็ว  การเล่านิทานเปรียบเสมือนการสอนภาษาไปในตัว  และเด็กสามารถตอบคำถามได้อย่างถูกต้องเพราะในระหว่างฟังนิทานเด็กก็จะมีกระบวนการคิดจินตนาการและสามารถจดจำรูปภาพหรือสัญลักษณ์ ต่างๆ ตัวอย่าง เช่น รูปสัตว์ ลิง ช้าง และสิ่งต่างๆในตัวละคร  หนังสือนิทานที่มีลูกเล่น  สามารถเลื่อนไปมาได้และมองเห็นเป็นภาพต่างๆ เด็กๆ ก็อยากลองทำดู  ดังนั้นเราก็ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้สัมผัสนิทานให้เด็กลองได้เลื่อนภาพที่อยู่ในหนังสือนิทานโดยให้เด็กเข้าแถวเพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสลองเล่น ลองเลื่อนไปมา เด็กๆ จะมีความสุขมากจะส่งผลต่อพัฒนาการได้ดีมากขึ้น  เด็กจะกล้าแสดงออก  กล้าแสดงความคิดเห็น  กล้าตอบคำถาม เพราะการที่เราให้เด็กทำแบบนี้จะทำให้เด็กเห็นคุณค่าภายในตนเอง

คำแนะนำจาก อาจารย์บาส
อาจารย์ให้คำแนะนำในการรายงานหน้าชั้น  แบบภาพรวมทุกกลุ่ม  ให้นำข้อบกพร่องในวันนี้ไปปรับปรุงแก้ไข  สัปดาห์หน้ามารายงานใหม่ให้ดีกว่าเดิม

หมายเหตุ :อาจารย์บาสมาสอนแทน


...........................................................

การดำเนินกิจกรรมการเล่านิทาน Big Book

วันที่ 24 กรกฎาคม 2555  

วันนี้เวลา 8.00-8.20 น. กลุ่มของดิฉันได้ไปทำกิจกรรมเล่านิทาน Big Book เรื่องความสามัคคีของสัตว์ทั้งสี่  ให้น้องๆ ฟังที่สาธิตจันทรเกษม  น้องทุกคนให้ความสนใจเป็นอย่างมากค่ะ


ค้นคว้าเพิ่มเติม
มาทำความรู้จักกับ Big Books หรือขอเรียกชื่อเล่นว่า นิทานเล่มใหญ่ แทนก็แล้วกันนะคะ หลายๆคนที่เคยเห็นอาจจะทราบแล้วว่าเจ้านิทานเล่มโตนี้ ดีอย่างไร หากแต่หลายๆครั้งที่ได้ยินคำถามกลับมาว่า จริงๆแล้วหนังสือนิทานเล่มใหญ่ๆมีไว้เพื่ออะไร ดีอย่างไร เราดีใจค่ะที่มีคนถาม เพราะเราก็อยากตอบให้หายสงสัยกันสักที

Big Book เหมาะกับเด็กอายุเท่าไหร่

จริงๆแล้วไม่มีข้อจำกัดในเรื่องอายุของเด็ก ตราบเท่าที่น้องๆหนูๆอยากอ่านหนังสือขึ้นมาสักเล่ม ก็คงเป็นเรื่องน่ายินดี เริ่มแรกเลยหนังสือเล่มใหญ่นี้เอาไว้ใช้กับเด็กในวัยเริ่มหัดอ่านหนังสือ ตั้งแต่อนุบาล จนถึงประถมต้นค่ะ หรืออายุเริ่มต้นที่ 3 - 8 ขวบ โดยหนังสือที่สำนักพิมพ์เลือกมาทำให้เป็นเล่มใหญ่ๆนี้ จะเริ่มจากมีเนื้อหาจากน้อยๆ และเพิ่มปริมาณเนื้อหา คำศัพท์ มากขึ้นเรื่อยๆให้เหมาะสมกับอายุและการพัฒนาการ เนื้อเรื่องชวนอ่าน และที่สำคัญ สีสันสดใสมากๆค่ะ ในวัยเด็กๆแบบนี้จินตนาการจากรูปภาพ วิธีการจดจำคำศัพท์จากรูป จากเรื่องราวที่ได้เห็น ได้อ่าน จะช่วยให้เด็กเกิดพัฒนาการได้ดีมากขึ้นนะคะ


Tip : ควรเลือกหนังสือที่มีคำศัพท์จากน้อย ไปหามาก ให้สำหรับเด็กอายุน้อย ไปหามากเช่นกัน เพื่อกระตุ้นให้เด็กอยากอ่าน เพราะมันจะไม่เยอะเกินความสามารถพวกเขานั่นเองนะคะ

Big Book แนะนำวิธีการนำไปใช้
ด้วยขนาดที่ใหญ่ของหนังสือนั้นทำมาก็เพื่อ "อ่านด้วยกันได้หลายคน" หรือ ที่ฝรั่งเรียก "Shared Reading" นั้น จึงเหมาะที่จะจัดกลุ่มให้เด็กๆล้อมวงกันโดยมีคุณครู พ่อ แม่ พี่ หรือ ผู้ปกครองเป็นคนอ่านเล่าเนื้อเรื่องให้ฟัง โดยเราสามารถที่จะสร้างความสนุกสนานไปพร้อมๆกับมอบความรู้ให้กับเด็กๆ โดยสามารถอ่านเล่าเรื่องได้หลายครั้ง แต่ละครั้งก็มีจุดประสงค์ในการให้ความรู้ ความสนุกสนานกับเด็กๆที่ต่างกันไป เรามีเคล็ดเล็กๆดังต่อไปนี้มาฝากค่ะ

* วันแรกเริ่มต้นด้วยการให้เด็กๆ เดาว่าหนังสือเล่มที่กำลังจะอ่านกันนั้น เกี่ยวกับอะไรด้วยการโชว์ปกหน้า หลัง ฟังความเห็นเด็กๆว่าจะเดากันว่ายังไง แล้วเริ่มต้นอ่านดังๆ ชัดเจน (สามารถแอ๊คชั่น ใส่อารมณ์ตามเนื้อหาเพื่อเพิ่มความสนุกสนานน่าติดตามค่ะ) เล่าเรื่องไปจนจบก็จะได้ความสนุกสนานให้กับเด็กๆ อย่าลืมทวนว่ามีใครทายถูกกันบ้างนะคะ เค้าจะได้รู้สึกมีส่วนร่วม ชวนให้ร่วมกิจกรรม กล้าแสดงออกอีกด้วย ไม่ใช่ถามแล้วลืมเดี๋ยวเด็กๆเค้าจะไม่อยากตอบเราอีกต่อไป

* วันที่สอง ก็อ่านเล่าเนื้อเรื่องใหม่ แต่คราวนี้เราเน้นไปที่คำศัพท์ ด้วยการให้เด็กๆอ่านตาม (Echo reading) หรือให้อ่านไปพร้อมๆกัน (Choral reading)หรือในขณะที่กำลังอ่านไปก็หยุดเพื่อรอให้ เด็กๆ เติมคำที่หายไป (Fill in the gap reading) วิธีการเหล่านี้้เป็นการกระตุ้นให้เด็กๆเกิดความเพลิดเพลินในการอ่านอีกด้วยค่ะ

* วันที่สาม อ่านกันใหม่ คราวนี้เราจะเริ่มให้เด็กๆเดาความหมายของคำศัพท์ กับ รูปภาพที่อยู่ในหนังสือ โดยครูจะเป็นผู้ชี้นำเด็กด้วยการตั้งคำถามเพื่อที่จะดึงเอาความหมายของคำศัพท์ที่ถูกต้องออกมาจากรูปในหนังสือได้

* วันที่สี่ เมื่อเด็กๆรู้ความหมายของคำศัพท์กันแล้ว ก็มาลองแลกเปลี่ยนความเห็น เกี่ยวกับเนื้อเรื่องของหนังสือ เช่น ถ้าในหนังสือมีรูปไก่กำลังร้อง เราสามารถถามเด็กๆว่า ถ้าเราเปลี่ยนไก่เป็นลิง เสียงร้องจะเป็นอย่างไร หรือถ้าเป็นหมูจะมีเสียงร้องเป็นอย่างไร เป็นต้น เหล่านี้ก็เพื่อเพิ่มความรู้ให้เด็กๆนอกจากที่หนังสือนำเสนอแล้วยังทำให้เด็กๆมีส่วนร่วมในการออกความเห็นกับเราร่วมกันด้วย

* วันที่ห้า เมื่อเด็กๆเริ่มรู้เนื้อหาของหนังสือเราจะมาทดสอบความจำ ความเข้าใจพวกเขากันด้วยการ เปิดหนังสือให้เด็กๆเรียงเหตุการณ์ลำดับก่อนหลังได้อีกด้วยอีกทั้งครูสามารถเปิดหาคำที่มี อยู่ซ้ำๆกัน หรือเล่นกับเสียงของคำ ด้วยการอ่านแล้วให้เด็กฟังว่าคำศัพท์คำไหนมีการออกเสียงที่คล้องจองกันได้ อีกด้วย

เราจะเห็นว่ามีหลากหลายวิธีการเรียนรู้ในระหว่างการอ่านหนังสือร่วมกัน หากใครมีวิธีการใหม่ๆอยากนำเสนอก็เอามาแชร์กันนะคะเผื่อจะได้เพิ่มพูนวิธีการที่มีประโยชน์ให้กับเด็กๆได้อีกด้วยค่ะ

อ้างอิงจาก : Big Book - นิทานเล่มใหญ่

....................................................

สัปดาห์ที่ 6

วันที่ 20 กรกฎาคม 2555

วันนี้อาจารย์ได้สั่งงงานให้แบ่งกลุ่ม(จากกลุ่มเดิม)  จะมีทั้งหมด 11 กลุ่ม ดังนี้
นิทานเล่มเล็ก    จะมี อนุบาล1, อนุบาล2, อนุบาล3, ประถม1


นิทานเล่มใหญ่   จะมี อนุบาล1, อนุบาล2, อนุบาล3, ประถม1


VDO                    จะมี อนุบาล1, อนุบาล2, อนุบาล3

โดยให้แต่ละกลุ่มไปเล่านิทานให้น้องฟังตามที่กลุ่มของตนได้รับมอบหมาย  จากนั้นจดบันทึกให้ละเอียดพร้อมวิเคราะห์พฤติกรรมของน้อง   เมื่อจบการเล่านิทานเพื่อนๆ  อาจจะถามน้องให้น้องได้ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย!!!   แล้วมานำเสนอในสัปดาห์ต่อไป

..........................................

สัปดาห์ที่ 5

วันที่ 13 กรกฎาคม 2555

ให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอผลงานในรูปแบบ VDO

ค้นคว้าเพิ่มเติม
ช่วงอายุของเด็กในวัยเรียน 6-12 ปีนั้น ถือเป็นช่วงสำคัญของเด็กในการเรียนรู้ทักษะชีวิต และพัฒนาการต่างๆทางด้านสติปัญญา (higher cognitive functions) เป็นช่วงที่การทำงานของสมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเต็มที่ ดังนั้นธรรมชาติและพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กในช่วงวัยเรียนจึงมีการเปลี่ยนแปลงและแสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างเด่นชัดในแต่ละขวบปี ซึ่งสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
อายุ 6 ปี
เด็กวัยนี้สามารถมองเห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งของได้ เช่น ความแตกต่างของลวดลายต่าง ๆ เข้าใจความหมายของหน้า-หลังและบน-ล่างของตัวเด็ก แต่ไม่เข้าใจระยะใกล้หรือไกลของสถานที่ เด็กวัยนี้ยังคิดถึงแต่เรื่องปัจจุบัน คิดถึงแต่เรื่องที่ตนเองพัวพันอยู่ด้วย มีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมค่อนข้างสั้น สนใจการกระทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่จะไม่สนใจความสำเร็จของกิจกรรมนั้น ๆ เด็กจะกระตือรือร้นทำงานที่ตนเองสนใจ แต่เมื่อหมดความสนใจจะเลิกทำทันที โดยไม่สนใจว่างานนั้นจะสำเร็จหรือไม่
อายุ 7 ปี
เด็กวัยนี้จะมีความอยากรู้อยากเห็น สามารถจำเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้ มีความสนใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ และจะพยายามทำให้สำเร็จ รู้จักชอบหรือไม่ชอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ มีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมยังค่อนข้างสั้น จะสนใจสิ่งต่างๆทีละอย่าง ดังนั้น ถ้ามีงานหลายอย่างให้เด็กทำ ควรจะแบ่งหรือกำหนดให้เป็นส่วน ๆ ไม่ควรให้พร้อมกันทีเดียว เพราะจะทำให้เด็กเบื่อ
อายุ 8 ปี
เด็กวัยนี้จะมีความอยากรู้อยากเห็น สนใจซักถามมากขึ้น ชอบทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ตนไม่เคยทำมาก่อน มีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมนานขึ้น มีความสนใจที่จะทำงานให้สำเร็จ มีความพิถีพิถันและรับฟังคำแนะนำในการทำงานมากขึ้น สามารถเข้าใจคำชี้แจงง่าย ๆ มีความสนใจในการเล่นต่าง ๆ สามารถแสดงละครง่าย ๆ ได้ สนใจการวาดภาพ ดูภาพยนตร์ โทรทัศน์ การ์ตูน ฟังวิทยุ และชอบนิทาน สนใจในการสะสมสิ่งของ
อายุ 9 ปี
เด็กวัยนี้เป็นวัยที่รู้จักใช้เหตุผล สามารถตอบคำถามอย่างมีเหตุผล มีความรู้ในด้านภาษา และความรู้รอบตัวกว้างขึ้น ชอบอ่านหนังสือที่กล่าวถึงข้อเท็จจริง สามารถแก้ปัญหาและรู้จักหาเหตุผลโดยอาศัยการสังเกต ในวัยนี้ต้องการอิสรภาพเพิ่มขึ้น สนใจที่จะสะสมสิ่งของ และจะเลียนแบบการกระทำต่าง ๆ ของคนอื่น
อายุ 10 ปี
วัยนี้เป็นวัยที่สมองกำลังพัฒนาเต็มที่ การเรียน การหาเหตุผล ความคิดและการแก้ปัญหาดีขึ้น สามารถตัดสินใจด้วยตนเอง และมีการไตร่ตรองก่อนตัดสินใจ ไม่ทำอย่างหุนหันพลันแล่น มีความคิดริเริ่ม เด็กชายชอบเรียนดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เด็กหญิงจะสนใจเกี่ยวกับการเรือน การสร้างมโนภาพเกี่ยวกับเวลา แม่นยำและกว้างขวางขึ้น ทำให้สามารถศึกษาประวัติศาสตร์สำคัญ วัน เดือนปี ได้ สามารถเข้าใจสิ่งต่าง ๆได้อย่างรวดเร็ว
อายุ 11-12 ปี
เด็กวัยนี้จะมีเพื่อนวัยเดียวกัน มีการเล่นเป็นกลุ่ม บางคนจะเริ่มแสดงความสนใจในเพศตรงข้าม สนใจกีฬาที่เล่นเป็นทีม กิจกรรมกลางแจ้ง สัตว์เลี้ยง งานอดิเรก หนังสือ การ์ตูน จะมีลักษณะเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ๆ อาจกลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ และชอบการวิพากษ์วิจารณ์ จะเห็นว่าความคิดเห็นของกลุ่มเพื่อนมีความสำคัญมากกว่าความคิดเห็นของผู้ใหญ่ และจะมีความกังวล เริ่มเอาใจใส่การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย  ต้องการให้ผู้อื่นเข้าใจและยอมรับในการเปลี่ยนแปลงของตนด้วย

อ้างอิงจาก : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/305078


...............................................................

สัปดาห์ที่ 4

วันที่ 6 กรกฎาคม 2555

วันนี้ไม่มีการรายงานหน้าชั้น...เพราะคุณครูให้ทุกกลุ่มกลับไปทำมาใหม่ให้เรียบร้อย ในสัปดาห์ที่ 5 รายงานทุกกลุ่ม และทุกกลุ่มต้องเตรียมพร้อม ซึ่งทุกกลุ่มต้องคำนึงว่าทำอย่างไรรายงานของเราจึงจะน่าสนใจ โดยจะจัดการลำดับขั้นตอนการนำเสนองานนั้นอย่างไร คุณครูให้กรอบความคิดที่ว่าทำอย่างไรให้เพื่อนสนใจและอยากติดตาม!!!

..........................................